หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เหตุผลที่แท้จริงในการลาออกของพนักงาน

การสมัครงาน คัดเลือกเข้าทำงาน และการลาออกของพนักงานนั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่วนเวียนในชีวิตขององค์กรหนึ่งๆ ในการบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น เราทำตั้งแต่การหาคน คัดเลือกคนที่ดี มีความเหมาะสมกับองค์กร แล้วมาพัฒนาให้เก่งขึ้น จากนั้นก็หาวิธีการที่จะรักษาคนดี คนเก่งไว้ในองค์กร แต่ในทางปฏิบัตินั้น การรักษาพนักงานเป็นสิ่งที่หลายองค์กรทำไม่ค่อยสำเร็จนัก กล่าวคือ หาคนเก่งได้แล้ว พัฒนาเขาแล้ว จากนั้นพนักงานก็ลาออกไปอยู่ที่อื่น ทั้งๆ ที่กำลังทำงานเข้าขากันได้อย่างดี ก็ไปซะแล้ว ทำไมถึงเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นมาได้ อะไรเป็นสาเหตุ ลองมาหาคำตอบกัน

มีงานวิจัยของทาง PricewaterhouseCoopers (PwC) ซึ่งได้ทำการสัมภาษณ์เก็บข้อมูลพนักงานที่ลาออกจากองค์กรโดยสมัครใจว่ามีเหตุผลอะไรบ้าง และได้สอบถามจากพนักงานจำนวนถึง 19,000 คน ซึ่งสามารถสรุปสาเหตุที่พนักงานลาออกจากองค์กรได้ดังตารางข้างล่างนี้

จากผลการสำรวจจะเห็นว่าสาเหตุส่วนใหญที่พนักงานอยากลาออกนั้น เป็นสาเหตุที่มาจากเรื่องของค่าจ้างเงินเดือนเพียง 12% เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นสาเหตุจากเรื่องอื่นๆ ทั้งสิ้น ลองมาดูทีละอันดับกันว่ามีรายละเอียดอย่างไร
  • ขาดโอกาสในการเติบโต นี่เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่พนักงานส่วนใหญ่ตอบมา โดยทั่วไป พนักงานเข้าทำงานในองค์กรไปสักระยะหนึ่งแล้ว สิ่งที่เขาต้องการก็คือ การเติบโตในหน้าที่การงาน ไม่ว่าจะเป็นระดับ หรือตำแหน่งงานที่สูงขึ้น ซึ่งองค์กรจะต้องมีการจัดเรื่องของการเติบโตในสายอาชีพให้กับพนักงานได้ด้วย องค์กรที่มีการจัดเรื่องของ Career Path อย่างจริงจัง จะทำให้พนักงานรู้สึกอยากอยู่ทำงานต่อ โดยเฉพาะคนเก่งในองค์กร เมื่อทราบว่าตนเองสามารถจะโตไปไหนได้ ก็จะมีแรงจูงใจในการทำงาน ไม่อยากที่จะไปทีอื่น ในทางตรงกันข้าม ถ้าพนักงานทำงานไปสักพัก แล้วไม่รู้เลยว่าตนเองจะโตไปทางไหนได้บ้างในองค์กร พนักงานกลุ่มนี้ก็จะไปโตที่อื่นนอกองค์กรเรา เราก็จะเสียคนเก่งไปในที่สุด
  • หัวหน้าไม่ดูแลเอาใจใส่ นี่เป็นสาเหตุอันดับที่ 2 ที่พนักงานรู้สึกอยากลาออกจากองค์กร สาเหตุนี้จริงๆ เป็นสาเหตุคลาสสิคมากๆ เพราะงานวิจัยส่วนใหญ่ที่สอบถามเรื่องของสาเหตุการลาออกนั้น มักจะออกมาในเรื่องของหัวหน้าขาดการดูแลเอาใจใส่ลูกน้องเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ เพื่อทราบดังนี้แล้ว เราก็คงต้องหาวิธีการป้องกันปัญหานี้ โดยการฝึกอบรมและพัฒนาหัวหน้างานทุกระดับในองค์กรให้รู้จักที่จะบริหารคน รู้จักที่จะจูงใจคนในทางที่ถูกต้อง แต่พูดไปก็แปลกเหมือนกัน บางองค์กรรู้ดีว่า ที่พนักงานลาออกนั้นมีสาเหตุมาจากหัวหน้างาน และผู้จัดการ แต่กลับไม่มีมาตรการอะไรในการแก้ไขปัญหา ปล่อยให้หัวหน้าบริหารงานบริหารคนแบบเดิมๆ พนักงานก็หาแล้วหาอีก ไม่เคยนิ่งสักที
  • ค่าตอบแทน สาเหตุอันดับที่ 3 เป็นเรื่องของค่าตอบแทน จากผลการสำรวจนั้น ไม่ใช่หมายถึงค่าตอบแทนที่ต่ำเกินไปนะ สาเหตุของค่าตอบแทนที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่าไม่อยากทำงานก็มาจาก ความไม่เป็นธรรมในการบริหารค่าตอบแทนมากกว่า บางองค์กรจ่ายค่าตอบแทนสูงมากเมื่อเทียบกับตลาด แต่พนักงานก็ยังอยากลาออก ก็เนื่องจากเขารู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในการจ่ายค่าตอบแทนมากกว่า เช่น การกำหนดอัตราเงินเดือนกำหนดตามใจเถ้าแก่ ชอบก็ให้เยอะ ไม่ชอบก็ให้น้อยเป็นต้น หรือการขึ้นเงินเดือนแทนที่จะเป็นไปตามผลงาน ก็ไปขึ้นตามอายุงานมากกว่า แบบนี้พนักงานเก่งๆ ก็ไม่อยากอยู่ทำงานด้วยอย่างแน่นอนเละทีเดียว
  • งานที่ทำน่าเบื่อไม่มีอะไรท้าทาย สาเหตุอันดับที่ 4 เป็นเรื่องของตัวงานเอง กล่าวคือ ทำงานไปเรื่อยๆ พอนานวันเข้าก็เริ่มรู้ว่างานนั้นจะต้องทำอะไร ปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขอย่างไร เรียกได้ว่ารู้ตื้นลึกหนาบางของงานหมดทุกด้านแล้ว พนักงานก็จะเริ่มรู้สึกเบื่อ เหนื่อยหน่ายกับสิ่งที่ต้องทำซ้ำๆ ในแต่ละวัน ยิ่งไปกว่านั้นถ้าองค์กรไม่มีระบบการหมุนเวียนงานที่ดี ก็จะยิ่งทำให้พนักงานเบื่อเข้าไปอีก สุดท้ายก็ต้องไปหาความท้าทายที่อื่น ดังนั้นการแก้ไขปัญหานี้ก็คือการสร้างระบบการหมุนเวียนเปลี่ยนงานภายในองค์กรขึ้น เพื่อทำให้พนักงานมีทักษะที่สูงขึ้น กว้างขึ้น และยังทำให้พนักงานรู้สึกถึงความท้าทายงานมากขึ้นด้วย
  • สาเหตุที่เหลือ จะเป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับหัวหน้างานเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่า ในเรื่องของหัวหน้าขาดภาวะผู้นำ ขาดความสัมพันธ์ที่ดีกับหัวหน้า มีความขัดแย้งกับหัวหน้าโดยตรง หัวหน้ามีความลำเอียง และไม่เคยที่จะใส่ใจในผลงานและความทุ่มเทของพนักงานเลย สาเหตุที่เหลือเหล่านี้ สามารถจัดเข้ากลุ่มในข้อ 2 ได้ ก็คือ หัวหน้างานไม่เอาใจใส่พนักงานนั่นเอง
เมื่อทราบสาเหตุหลักๆ กันแบบนี้แล้ว ชาว HR ทั้งหลายก็น่าจะพอหาแนวทางในการป้องกันคนเก่งไหลออกจากองค์กรกันได้นะค่ะ เพราะนอกจากระบบค่าตอบแทนจะต้องเป็นธรรมแล้ว สิ่งที่สำคัญมากกว่าก็คือ เรื่องของความรู้สึกภาคภูมิใจในผลงานของพนักงาน ที่องค์กรจะต้องสร้างระบบเหล่านี้ เพื่อดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้ให้ได้

นี่เป็นอีกข้อพิสูจน์ว่า ในอนาคตการให้รางวัลที่ไม่ใช่ตัวเงินจะทวีความสำคัญมากขึ้นสำหรับการดึงดูด และรักษาคนเก่งในองค์กร
แหล่งที่มา : http://prakal.wordpress.com
ภาพประกอบ : จากอินเตอร์เน็ต


วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การเป็นพนักงานที่ดี ต้องทำอย่างไร (ข้อคิดของลูกน้อง)

องค์กรส่วนใหญ่มักจะอบรมแต่เฉพาะพนักงานระดับบังคับบัญชาในเรื่องเกี่ยวกับการเป็นหัวหน้างานที่ดี หรือการเป็นผู้จัดการที่ดี แต่ไม่ค่อยมีองค์กรใดที่พยายามจะให้ความรู้ และอบรมพนักงานให้เป็นพนักงานที่ดีสักเท่าไหร่ กล่าวคือ คนที่เป็นพนักงานเมื่อเข้ามาทำงานแล้ว ก็ผ่านแค่การอบรมปฐมนิเทศน์ เท่านั้น แล้วก็มักจะเกิดคำบ่นจากบรรดาหัวหน้าทั้งหลายเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกน้องตนเองว่า ไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่ (ทางฝ่ายลูกน้องก็บ่นถึงลูกพี่เช่นกัน)
ดังนั้นการที่เรารับพนักงานเข้ามาทำงานในองค์กรของเรา สิ่งที่องค์กรควรจะทำก็คือ การให้ความรู้และพัฒนาพนักงานให้เขาทราบถึงวิธีการเป็นพนักงานที่ดี และทำอย่างไรที่จะสามารถทำให้ตนเองเป็นพนักงานที่ดีในสายตาของหัวหน้าและองค์กร ไม่ใช่ปล่อยเขาไปตามยถากรรม
โดยทั่วไปพนักงานที่ดี และเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าบรรดาหัวหน้าก็มักจะมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ได้สอบถามจากเหล่าบรรดาหัวหน้างานทั้งหลายจนสรุปได้คำตอบดังนี้
  • มีความรับผิดชอบ ข้อนี้ความหมายก็คือ เวลาได้รับมอบหมายงานไปแล้ว ไม่ทิ้งงาน ไม่ปล่อยปละละเลยงาน ทำงานให้สำเร็จตามแผนงานที่กำหนดไว้ และรู้ว่างานนี้คือความรับผิดชอบของตนเองที่จะต้องทำให้สำเร็จ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปจ้ำจี้จ้ำไชอยู่ตลอดเวลา
  • มีความทุ่มเทให้กับงาน ข้อนี้จะคล้ายๆ กับเรื่องของความรับผิดชอบ เพียงแต่เน้นไปที่เรื่องของความตั้งใจในการทำงาน ความมุ่งมั่นว่าจะต้องทำงานนั้นให้สำเร็จให้ได้ ไม่ใช่วันๆ เอาแต่ทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับงานในเวลางาน ส่วนงานก็ไม่ยอมทำ จะมาทำเอาใกล้ๆ กำหนดส่ง สิ่งที่หัวหน้าไม่ค่อยชอบก็คือ การที่พนักงานใช้เวลาในการทำงานนั่งเล่น Facebook นั่ง chat หรือ เข้าสู่ Social Network ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการขาดวุฒิภาวะในการทำงาน ขาดความรับผิดชอบ และความทุ่มเทให้กับการทำงาน
  • เชื่อฟังหัวหน้ข้อนี้หัวหน้าเกือบทุกคนตอบเหมือนกันเลย ก็คือ ต้องการพนักงานที่เชื่อฟัง คำว่าเชื่อฟังนี้ไม่ใช่การไม่โต้แย้ง หรือไม่เถียง แต่เป็นความเข้าใจซึ่งกันและกันมากกว่า ว่าที่หัวหน้าพูดแบบนี้ หรือทำแบบนี้นั้นมีวัตถุประสงค์อย่างไร ทำไมหัวหน้าต้องสั่งแบบนั้น ทำไมต้องพูดแบบนี้ หัวหน้าเองก็คาดหวังให้พนักงานเข้าใจเขาด้วยเช่นกัน
  • แก้ไขปัญหาในการทำงานได้ด้วยตนเอง สิ่งที่หัวหน้ามักจะคาดหวังจากลูกน้องก็คือ ลูกน้องจะต้องสามารถแก้ไขปัญหาในการทำงานของตนเองได้บ้าง ไม่ใช่ต้องให้หัวหน้าเป็นคนแก้ไขซะทุกเรื่อง แบบนี้หัวหน้าก็บอกว่า ไม่ต้องจ้างมาก็ได้ เพราะจ้างมาแล้วไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แล้วต้องย้อนกลับมาให้หัวหน้าแก้ไขให้นั้น ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะจ้างพนักงานคนนี้เข้ามาเลย
  • ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ ข้อนี้เป็นอีกข้อที่หัวหน้าส่วนใหญ่ต้องการ ก็คือ พนักงานต้องไม่ฝ่าฝืน หรือแหกกฎของบริษัท เวลาทำงานก็ให้ปฏิบัติงานตามกฎระเบียบข้อบังคับของบริษัท เนื่องจากหัวหน้าไม่ต้องการที่จะมานั่งเสียเวลาในเรื่องพวกนี้ และหัวหน้าก็คาดหวังว่า พนักงานทุกคนน่าจะเข้าใจ และปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เขียนไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้เกิดความเป็นระเบียบในสังคมการทำงาน
นี่คือ 5 ความต้องการหลักของคนที่เป็นหัวหน้าที่อยากให้ลูกน้องเป็นอย่างไรบ้าง ตามที่ได้เก็บรวบรวมข้อมูลมา ดังนั้นถ้าเราอยากเป็นลูกน้องที่ดี และอยากเป็นพนักงานที่ดีในสายตาของหัวหน้า และองค์กร อย่างน้อยๆ 5 ข้อข้างต้นก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่พนักงานทุกคนจะต้องระลึกไว้เสมอ
นอกจาก 5 ข้อนี้ที่จะต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และได้มาตรฐาน นอกนั้นก็คงเป็นเรื่องของผลงานที่ออกมาตามตัวชี้วัดผลงานของแต่ละตำแหน่งงาน และในบางองค์กรอาจจะมีการกำหนด Competency ของพนักงานไว้ว่าจะต้องมีอะไรเพิ่มเติมบ้าง ก็ให้ใช้จุดนั้นเพิ่มเติม
เท่าที่มีการวิเคราะห์อย่างจริงจังจากคำตอบที่ได้มา 5 ข้อนั้น คิดว่า ถ้าหัวหน้ามีลูกน้องที่สามารถเป็นแบบ 5 ข้อข้างต้นได้ หัวหน้าก็คงจะสบายใจขึ้น และคงทำงานร่วมกับลูกน้องแต่ละคนได้ดีทีเดียว โดยไม่ต้องมานั่งปวดหัวกับพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของลูกน้องแต่ละคน
แต่ว่า เรื่องพวกนี้มันอยู่ที่มุมมองของแต่ละฝ่ายด้วย ฝ่ายหัวหน้าเองก็นั่งอยู่อีกมุมหนึ่ง ซึ่งบางครั้งก็เริ่มมองไม่เห็นมุมมองของพนักงานทั้งๆ ที่ตนเองก็เคยเป็นพนักงานมาก่อน ตัวลูกน้องเองก็ไม่ค่อยมองในมุมของคนที่เป็นหัวหน้าเลยก็มี ว่าทำไมหัวหน้าถึงต้องทำอะไรแบบนั้น
ถ้าทั้งสองฝ่ายพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และหันหน้าเข้าหากัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เข้าใจความคาดหวังของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างดี คิดว่าปัญหาระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องก็ไม่น่าเกิดขึ้น เมื่อไม่เกิดปัญหาระหว่างกันขึ้น ผลงานของทีมก็จะออกมาดีกว่า ทีมงานที่มีปัญหาระหว่างกันข้างใน คุณว่าจริงมั้ย....
ขอขอบคุณบทความดีๆจาก : http://prakal.wordpress.com

วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เคล็ดลับการเป็นหัวหน้าที่ดี


เหล่าบรรดาหัวหน้างาน ผู้จัดการ หรือจะเรียกชื่อตำแหน่งอะไรก็แล้วแต่ สิ่งหนึ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้จะขาดไม่ได้เลยก็คือ เขาต้องทำงานผ่านคนอื่น คนอื่นในที่นี้ก็คือ “ลูกน้องของตนเอง” การที่หัวหน้าคนหนึ่งจะทำงานผ่านคนที่เป็นลูกน้องได้ดีนั้น ไม่ใช่แค่เพียงการวางแผนงาน และเข้ามาควบคุมดูแลให้งานสำเร็จตามเป้าหมายเท่านั้น หัวหน้างานยังต้องทำหน้าที่ในการบริหารคน หรือบริหารความรู้สึกของคนในทีมงานอีกด้วย

มีหลายคนถามมาว่า มีสูตรสำเร็จหรือไม่ในการที่จะบริหารคนในทีมงานให้เกิดความรู้สึกที่ดีในการทำงาน และเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมทั้งมีแรงจูงใจในการทำงาน สูตรที่ว่านั้นมีให้เห็นกันอยู่ทั่วไปมากมาย เพียงแต่มันติดตรงที่ รู้แล้วว่าเคล็ดลับคืออะไร แต่ไม่ค่อยมีหัวหน้างานคนไหนจะนำไปใส่ใจทำตามน่ะสิครับ ผลก็คือ หัวหน้างานไม่สามารถบริหารคนในทีมงานได้เลย คนเอาคนไม่อยู่  สิ่งที่ตามมาก็คือ งานก็เริ่มหลุดแผน ผลสุดท้ายก็คือผลงานหัวหน้างานก็เริ่มแย่ลงไปด้วย ผลงานองค์กรก็ไปไม่ถึงเป้าที่ต้องการอีก
จากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับเหล่าหัวหน้างาน และผู้จัดการมือดี เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารคนของเขา ก็พบว่า มันมีเคล็ดลับอยู่ไม่กี่ตัวเท่านั้น ก็เลยเอามาเล่าให้อ่านกัน เผื่อจะได้นำเอาไปใช้ในการทำงานได้
  • เอาใจเขามาใส่ใจเรา สิ่งที่ผู้จัดการที่ดีบอกเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า ถ้าหัวหน้างานอยากจะบริหารลูกน้องได้ดีนั้น ต้อง “เอาใจลูกน้องมาใส่ใจเรา” เราต้องเข้าใจเขาว่า เขากำลังคิดอะไร รู้สึกอย่างไร ลองดูว่าถ้าเป็นเราโดนเข้าแบบนั้นเราจะรู้สึกอย่างไร ลูกน้องเราเองก็เช่นเดียวกัน เช่น หัวหน้างานบางคนมักจะโวยวาย ตีโพยตีพาย และด่ากราดลูกน้องที่ทำงานไม่ได้ดั่งใจต่อหน้าลูกน้องคนอื่นๆ  เพื่อความสะใจของเขา ลองถามตัวเองดูว่า ถ้าเป็นเรา เราชอบมั้ยที่โดนหัวหน้าของเราด่ากราดแบบนั้นต่อหน้าคนอื่น ขอให้ตอบอย่างจริงใจนะ (มั่นใจเลยว่า ไม่มีใครชอบหรอกแน่นอน แต่ก็แปลกที่เรากลับชอบทำกับลูกน้องของเรา เหมือนกับว่าเราไม่รู้สึกอะไรเลยถ้าโดนแบบนั้นเข้าเหมือนกัน)
  • ให้เกียรติ และให้การยอมรับ หัวหน้างานที่ดีต่างก็ยอมรับว่า การให้เกียรติลูกน้องของเรา และการให้กายอมรับลูกน้องของเรานั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่จะทำให้เขาเกิดแรงจูงใจในการทำงานกับเรา การให้เกียรติก็คือ เรื่องอะไรที่เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา เราก็ไม่ควรเอามาพูดในที่สาธารณะ การพูดจาที่สุภาพ การปฏิบัติต่อลูกน้องเหมือนเขาเป็นครอบครัวเดียวกับเรา ให้การยอมรับเขาในฐานะทีมงาน สิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มจากหัวหน้าก่อนทั้งสิ้น ทักทาย พูดคุย ถามทุกข์สุข ฯลฯ ลูกน้องเองก็จะรู้สึกว่า หัวหน้าให้การยอมรับเขา แรงจูงใจในการทำงานก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
  • ให้ความจริงใจ มีใครบ้างที่ไม่ชอบคนจริงใจกับเรา ลูกน้องเองก็เช่นกันครับ เขาเองก็ชอบหัวหน้างานที่จริงใจ ไม่มีอะไรลับหลังเขา ไม่ว่าจะเป็นการนินทาลูกน้องตัวเองให้หัวหน้างานคนอื่นฟัง การปฏิบัติต่อลูกน้องแบบต่อหน้าอย่างหนึ่ง ลับหลังอย่างหนึ่ง หรือพอลูกน้องทำงานได้ดี ก็ไม่มีคำชม หรือบางทีก็ชมแบบขอไปที ถามท่านที่เป็นหัวหน้าเองก็ได้ครับ ชอบมั้ยครับถ้าเจอหัวหน้างานแบบนี้บ้าง
  • ให้ความเป็นธรรม ปกติถ้าหัวหน้างานมีลูกน้องมากว่า 1 คน สิ่งที่หัวหน้างานจะต้องระวังก็คือ เรื่องของการปฏิบัติตนไม่เป็นธรรม เราเองอาจจะรู้สึกว่าเป็นธรรม แต่ลูกน้องกลับมองว่าไม่เป็นธรรม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบกับความรู้สึกของลูกน้องได้ง่ายมาก ในการทำตัวของหัวหน้านั้น จะต้องคิดให้ดี ถ้าเราทำแบบนี้กับคนนี้แล้ว ถ้าเกิดกรณีแบบเดียวกันกับคนอื่น เราจะทำแบบนี้หรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีและเป็นธรรม แต่ถ้าคำตอบคือ “ถ้าเป็นลูกน้องคนนี้ฉันจะไม่มีทางทำแบบนี้เด็ดขาด” นั่นแสดงว่าท่านเองก็มีการเลือกปฏิบัติต่อลูกน้องตนเองแล้วล่ะ
  • รับฟังอย่างเข้าใจ ทักษะเรื่องของการฟังนี้จะว่าง่ายก็ง่าย หรือจะว่ายาก มันก็ยากนะครับ การฟังที่ดีก็คือฟังแล้วต้องไม่สรุปเอาเอง หรือเอาประสบการณ์ของเราเข้าไปตัดสินคนอื่น ต้องฟังอย่างเป็นกลาง และฟังอย่างเข้าใจลูกน้องของตน ว่าทำไมเขาถึงพูดแบบนั้น หัวหน้าส่วนใหญ่ชอบพูดมากกว่าฟังอยู่แล้ว เพราะมองว่าตนเองเป็นหัวหน้าต้องเก่งกว่า ต้องพูดมากกว่า มิฉะนั้นแล้วจะสู้ลูกน้องไม่ได้ แต่ผมว่าฟังให้เยอะไว้จะดีกว่า เพราะเราจะกลายเป็นหัวหน้าที่เข้าใจลูกน้องได้ดีกว่าหัวหน้าที่พูดอย่างเดียว ห้าข้อดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่หัวหน้างานส่วนใหญ่บอกไว้เลยว่า นี่คือเคล็ดลับของการเป็นหัวหน้างานที่ดี 
จะสังเกตเห็นว่าไม่ต้องไปเรียนเทคนิคอะไรมากมายเลย แค่เพียงเราตั้งใจที่จะเป็นหัวหน้างานที่ดี และทำตามเคล็ดลับที่กล่าวมา โดยส่วนตัวเรา ถามตัวเองว่าถ้าหัวหน้าเราเป็นแบบ 5 ข้อนี้เราจะรู้สึกอย่างไร คำตอบที่ออกมาโดยไม่ลังเลเลยก็คือ เราจะรู้สึกดีมากๆ ดังนั้นถ้าเราปฏิบัติตนแบบนี้กับลูกน้องของเรา ลูกน้องเราก็ย่อมจะรู้สึกดี และมีกำลังใจในการทำงาน รวมทั้งเกิดแรงจูงใจในการสร้างผลงานให้ดีขึ้นได้อีกมากมายเลยทีเดียว

หัวหน้าบางคนรู้ทฤษฎีในการบริหารคนมากมาย แต่ไม่สามารถอยู่ในใจของลูกน้องได้เลย นั่นก็คือ ไม่เคยนำสิ่งที่รู้มานั้นไปปฏิบัติจริง

ขอขอบคุณ :http://prakal.wordpress.com
ภาพประกอบ : จากอินเตอร์เน็ต


วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ธรรมะกับชีวิตประจำวันเรื่องการเลือกคู่ครอง


สำหรับคนโสด  ก็มักจะมีคำถามว่า "คนที่ ใช่  เมื่อไรจะเจอสักที"  ฝ่ายชายก็เฝ้ารอคอย "นางในดวงใจ"  ฝ่ายหญิงก็เฝ้ารอคอย "ชายในฝัน"  ที่เจอๆมาแล้ว ผ่านไปแล้ว ก็ยังไม่ใช่ คนที่ "ใช่" สักที  ใครหนอคือคนที่ใช่ของเรา

บางคนก็เชื่อเรื่องบุพเพสันนิวาส  ว่าคู่แล้วไม่แคล้วกัน ยังไงๆคงต้องได้เจอสักวันจนได้ บางคนก็เชื่อเรื่องพรหมลิขิต  ยังไงเสีย ต้องดลใจให้เนื้อคู่ของเรา มาพบมาเจอเราจนได้

อันที่จริงแล้ว ทุกอย่างนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือกของเราเองต่างหาก  บางทีบุพเพสันนิวาสก็ทำให้เราได้พบได้เจอคนที่เรารู้สึกถูกชะตา  ถูกอัธยาศัย  แต่ถ้าเราไม่สานสัมพันธ์ต่อให้ดีๆ  เขาหรือเธอก็อาจจะไปใกล้ชิดสนิทสนมกับคนอื่น และตกร่องปล่องชิ้น แต่งงานแต่งการกับเขาหรือเธอไปเสียก่อน  เราก็ต้องรับประทาน "แห้ว" ไปตามระเบียบ
บางทีพรหมลิขิตก็ทำงานหนักแล้ว  ดลใจให้เขาหรือเธอมาพบกับเราแล้ว แต่ด้วยค่านิยมที่ผิดๆ ด้วยความเขิน  ด้วยความเหนียมอาย  จนกลายเป็นเล่นตัว  คนที่เขามาทีหลัง เขากล้าหาญชาญชัยกว่าเรา เขาก็คว้าเอาไปครอบครองเสียก่อน แล้วเราก็ต้องรับประทาน "แห้ว" อีกวาระหนึ่ง
จากคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น  ทำให้เรารู้ว่า  คนทุกคนที่มีความสัมพันธ์กับเราทุกวันนี้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  ต่างก็เคยได้มีความสัมพันธ์กับเรามาแล้วทั้งนั้นในอดีตชาติ   คนที่เคยมีความสัมพันธ์ในทางที่ดีต่อเรามาก่อน   เมื่อได้มาพบกันอีกในชาตินี้  จะทำให้รู้สึกถูกชะตา  ถูกอัธยาศัยกัน  ชอบพอกัน แต่ความสัมพันธ์ในอดีตชาตินั้น  ก็ยังไม่มีอิทธิพลหรือมีความสำคัญต่อเรามากเท่ากับความสัมพันธ์ในปัจจุบัน   เราจึงควรพิจารณาเรื่องความสัมพันธ์ในปัจจุบันนี้ให้มากว่า หากต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันแล้ว  เขาหรือเธอ จะเข้ากับเราได้ดีไหม  ไปกันได้ดีไหม  ยอมรับและเข้าใจกันได้ไหม และจะทำให้มีความสุขที่อยู่ด้วยกันหรือไม่
หลักธรรมในการเลือกคู่ครอง คือ สมชีวิธรรม 4 เราควรเลือกคู่ครองที่มีลักษณะดังนี้
สมชีวิธรรม 4 (qualities which make a couple well matched)
เป็นธรรมที่จะทำให้คู่สมรส ครองรักกันได้ราบรื่น กลมกลืน และยาวนาน ได้แก่
       1. สมสัทธา (to be matched in faith)
คือ มีศรัทธาสมกัน  มีความเชื่อในสิ่งเดียวกัน มีทัศนคติในการมองโลก มองชีวิต ไปในทางเดียวกัน  ก็จะทำให้เข้าใจกันง่าย  ไม่มีความขัดแย้งกัน
       2. สมสีลา (to be matched in moral)
คือ มีศีลสมกัน  ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ต้องมีหลักในการประพฤติปฏิบัติตนเรื่องผิดชอบชั่วดีเหมือนๆกัน  เช่น ถ้าคนหนึ่งไม่ชอบการโกหก  อีกคนหนึ่งต้องไม่ชอบการโกหกด้วย  ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมักโกหกเป็นนิสัย  อีกฝ่ายหนึ่งย่อมเกิดความไม่ไว้วางใจ และอยู่ด้วยกันอย่างไม่มีความสุข   หรือถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ชอบเล่นการพนัน  แต่อีกฝ่ายชอบมัวเมากับการพนัน  ก็ไม่ควรเลือกมาเป็นคู่ครอง เพราะจะมีแต่ความขัดแย้ง  อยู่ด้วยกันไปก็ไม่มีความสุข
       3. สมจาคา (to be matched in generosity)
คือ มีจาคะสมกัน   มีใจเมตตากรุณา โอบอ้อมอารี เหมือนๆกัน ชอบเกื้อกูลสนับสนุนญาติพี่น้อง และคนที่ตกทุกข์ได้ยาก  ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนตระหนี่ ก็ย่อมเกิดความไม่พอใจทุกครั้งที่อีกฝ่ายหนึ่งช่วยเหลือแบ่งปันแก่ผู้อื่น  หากอยู่ร่วมกันไป ชีวิตย่อมจะมีแต่ความขัดแย้ง  ไม่มีความสงบราบรื่น
       4. สมปัญญา (to be matched in wisdom)
คือ มีปัญญาสมกัน   ทั้งชายและหญิง ต้องมีระดับสติปัญญาใกล้เคียงกัน  มีความเฉลียวฉลาด พอๆกัน  ความคิดความอ่านต้องไปกันได้  มีการใช้วิจารณญาณในการมองปัญหา แก้ปัญหา และตัดสินใจ ไปในทิศทางเดียวกัน เช่น ถ้าฝ่ายหนึ่งชอบใช้เหตุผลในการพิจารณาแก้ปัญหา  แต่อีกฝ่ายหนึ่งชอบใช้อารมณ์ ก็ไม่ควรจะเลือกมาเป็นคู่ครอง  เพราะชีวิตสมรส จะมีแต่การทะเลาะเบาะแว้ง ไม่เข้าใจกันได้  คนที่มีอะไรคล้ายๆกัน  ย่อมเข้าใจกันได้ดีกว่า    หรือถ้าฝ่ายหนึ่งฉลาดและเข้าใจอะไรได้ง่ายๆ  อีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนสมองทึบ เข้าใจอะไรได้ช้า   การอยู่ด้วยกันทุกวัน จะทำให้เกิดความไม่กลมกลืนกัน   ไม่สมดุลย์กัน คุยกันไม่รู้เรื่อง  มีแต่ความอึดอัดรำคาญใจ   ก็ไม่ควรเลือกมาเป็นคู่ครอง
คู่ครองตามที่่กล่าวไว้ใน สิทธิการิยะฯ มี 4 แบบ คือ 
1. คู่เวรคู่กรรม
ได้แก่คู่สามีภรรยาที่อยู่ด้วยกันแล้วทะเลาะเบาะแว้ง บางคู่ถึงขั้นตบตีกันแต่ก็ไม่เลิกรากันไป ยังคงใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน  แต่มักมีเรื่องบาดหมางขัดใจกัน ทะเลาะกันอยู่เป็นประจำ   ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจไม่ซื่อสัตย์   อาจสุรุ่ยสุร่าย ล้างผลาญเงินทอง อาจดูถูกดูหมิ่นอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ยกย่องให้เกียรติ ไม่มีความเคารพเกรงใจกัน แม้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันไม่มีความสุข  แต่ก็ยังต้องอยู่ด้วยกันต่อไป
2. คู่ทุกข์คู่ยาก
ได้แก่ คู่สามีภรรยาที่ลำบากลำบนมาด้วยกัน  ฟันฝ่าอุปสรรคของชีวิตมาด้วยกัน แต่ก็รักและเห็นอกเห็นใจกันเสมอ
3. คู่สร้างคู่สม
ได้แก่ คู่สามีภรรยาที่อยู่ร่วมกัน  ชีวิตมีแต่ความสุข  มีโชคดี ไม่มีปัญหาและอุปสรรคใดๆ  รักและให้เกียรติยกย่องกันและกัน   มีความสุขอยู่ด้วยกันจนวันตาย
4. คู่อาศัย
ได้แก่คู่รัก หรือคู่สามีภรรยา ที่รักกันได้ไม่นาน  ก็มีอันต้องเลิกรากันไป
ถ้าคู่สมรสคู่ใด ที่ครองรักกันอย่างมีความสุขในชีวิตนี้  และมี ศรัทธา  ศีล จาคะ ปัญญา สมกัน   แม้ตายจากกันไปแล้ว  ชาติต่อไปก็ย่อมได้เกิดมาเป็นคู่ครองกันอีก เรียกว่า คู่แล้วไม่แคล้วกัน
จาก อังคุตตรนิกาย  มีพระสูตรที่ 2  ปฐมสังวาสสูตร และทุติยสังวาสสูตร แห่งปุญญาภิสันทวรรค ทุติย- ปัณณาสก์ จตุกกนิบาต  ที่่ว่าด้วยการอยู่ร่วมกันระหว่างสามีภรรยามี 4 แบบ   โดยเปรียบเทียบว่า คนทุศีล
เป็นเสมือนผี คนมีศีลเป็นเสมือนเทวดา ดังนี้
1. การอยู่ร่วมกันแบบผีอยู่ร่วมกับผี
หมายถึงสามีทุศีลอยู่ร่วมกับภรรยาทุศีล   ต่างฝ่ายต่างชั่วพอๆกัน บางคู่อาจเข้าใจกันดี ไปกันได้ดี อยู่ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน บางคู่อาจเป็นแบบ ขิงก็รา ข่าก็แรง
2. การอยู่ร่วมกันแบบผีอยู่ร่วมกับเทวดา
หมายถึงสามีทุศีลอยู่ร่วมกับภรรยามีศีล  สามีเลวแต่อยู่ร่วมกับภรรยาที่ดี ฝ่ายสามีจะเป็นฝ่ายที่เอาเปรียบภรรยา ปฏิบัติต่อภรรยาไม่ดี  การอยู่ด้วยกัน ไม่ทำให้มีความสุข
3. การอยู่ร่วมกันแบบเทวดาอยู่ร่วมกับผี
หมายถึงสามีมีศีลอยู่ร่วมกับภรรยาทุศีล  สามีดีอยู่ร่วมกับภรรยาที่เลว  ฝ่ายภรรยาเป็นภาระของสามี  เอารัดเอาเปรียบสามี ปฏิบัติต่อสามีไม่ดี  อาจไม่ซื่อสัตย์ นอกใจ หรือ ล้างผลาญสมบัติ  การอยู่ด้วยกัน ย่อมไม่มีความกลมกลืน เข้ากันไม่ได้ดี

4. การอยู่ร่วมกันแบบเทวดาอยู่ร่วมกับเทวดา
หมายถึงสามีมีศีลอยู่ร่วมกับภรรยามีศีล ต่างฝ่ายต่างดีพอๆกัน  รักใคร่ปรองดองกัน ถนอมน้ำใจกัน ยกย่องให้เกียรติกันและกัน สามีภรรยาแบบนี้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตลอดไป
พระพุทธเจ้า ได้จำแนกภรรยาไว้ 7 แบบ ดังนี้  ถ้าท่านต้องการภรรยาแบบไหน ย่อมเลือกลักษณะหญิงที่ท่านจะเลือกมาเป็นคู่ครองได้ตามลักษณะดังกล่าวนี้ คือ
ภรรยา 7 (seven types of wives)
ภรรยาแบบต่างๆ ซึ่งจำแนกโดยคุณธรรม ความประพฤติลักษณะนิสัย และการปฏิบัติต่อสามี ดังนี้


       1. วธกาภริยา (a wife like a slayer; destructive wife)
ภรรยาเยี่ยงเพชฌฆาต
ได้แก่ ภรรยาที่คิดร้ายกับสามี   เป็นผู้หญิงที่ซื้อได้ด้วยเงิน  เห็นแก่เงิน ไม่ได้อยู่กินกับสามีด้วยความรัก มักเจ้าชู้ มีใจยินดีในชายอื่น ดูหมิ่นไม่ยกย่องให้เกียรติ ไม่เคารพสามี
       2. โจรีภริยา (a wife like a robber; thievish wife)
ภรรยาเยี่ยงโจร
ได้แก่ ภรรยาผู้ล้างผลาญทรัพย์สมบัติ  ใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย  ไม่รู้จักประหยัด  อาจติดการพนัน  หรือชอบความหรูหราฟุ่มเฟือย  ใช้เงินเกินตัว ไม่รู้จักประมาณตน
       3. อัยยาภริยา (a wife like a mistress; Madam High and Mighty)
ภรรยาเยี่ยงนาย
ได้แก่ ภรรยาที่เกียจคร้าน ไม่ใส่ใจการงาน กินมาก ปากร้าย หยาบคาย ใจเหี้ยม ชอบข่มสามี
       4. มาตาภริยา (a wife like a mother; motherly wife)
ภรรยาเยี่ยงมารดา
ได้แก่ ภรรยาที่หวังดีเสมอ คอยห่วงใยเอาใจใส่สามี เหมือนมารดาปกป้องบุตร และประหยัดรักษาทรัพย์ที่หามาได้
  5. ภคินีภริยา (a wife like a sister; sisterly wife)
ภรรยาเยี่ยงน้องสาว
ได้แก่ ภรรยาผู้เคารพรักสามี ดังน้องรักพี่ มีใจอ่อนโยน รู้จักเกรงใจและคล้อยตามสามี
       6. สขีภริยา (a wife like a companion; friendly wife)
ภรรยาเยี่ยงสหาย
ได้แก่ ภรรยาที่เป็นเหมือนเพื่อน พบสามีเมื่อใด ก็ปลาบปลื้มดีใจเหมือนเพื่อนพบเพื่อนที่จากไปนาน เป็นผู้มีการศึกษาอบรม มีกิริยามารยาท ความประพฤติดี ภักดีต่อสามี  เป็นคู่คิดคู่ครอง  เคียงบ่าเคียงไหล่สามี
       7. ทาสีภริยา (a wife like a handmaid; slavish wife)
ภรรยาเยี่ยงทาสี
ได้แก่ ภรรยาที่ยอมอยู่ในอำนาจสามี ถูกขู่ตะคอกเฆี่ยนตี ก็อดทนไม่โกรธตอบ รักสามีมาก ยอมรับใช้และทำทุกอย่างเพื่อความสุขของสามี
       พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ภรรยาสำรวจตนเองว่า ตนเป็นภรรยาประเภทไหน และจะให้ดีควรจะเป็นภรรยาประเภทใด
สำหรับชาย อาจใช้เป็นหลักสำรวจอุปนิสัยของตนว่าเหมาะแก่หญิงประเภทใดที่จะเลือกมาไว้เป็นคู่ครอง และสำรวจหญิงที่จะเป็นคู่ครองว่าเหมาะกับอุปนิสัยของตนหรือไม่  (สำหรับผู้เขียนเอง ขอเลือกภรรยาในแบบที่ 6  คือ ภรรยาเยี่ยงสหาย)
การปฏิบัติต่อสามีหรือภรรยา  มีกล่าวไว้ใน  ทิศ 6 (directions; quarters)
บุคคลประเภทต่างๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางสังคม ดุจทิศที่อยู่รอบตัว
ภรรยานั้น ถือเป็นทิศที่ 3 ปัจฉิมทิศ (ทิศตะวันตก)
ปัจฉิมทิศ (wife and children as the west or the direction behind)
ทิศเบื้องหลัง ทิศตะวันตก ได้แก่ บุตรภรรยา เพราะติดตามเป็นกำลังสนับสนุนอยู่ข้างหลัง
  ก. สามีบำรุงภรรยา ผู้เป็นทิศเบื้องหลัง ดังนี้
           1) ยกย่องให้เกียรติสมกับฐานะที่เป็นภรรยา
           2) ไม่ดูหมิ่น
           3) ไม่นอกใจ
           4) มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้านให้
           5) หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส
       ข. ภรรยาย่อมอนุเคราะห์สามี ดังนี้
           1) จัดงานบ้านให้เรียบร้อย
           2) สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี
           3) ไม่นอกใจ
           4) รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้
           5) ขยันไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง
ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน  ได้เลือกคนที่มี ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา สมกันกับท่านมาเป็นคู่ครอง  และเป็นคู่สร้างคู่สมที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความรัก มีความสุขด้วยกันตลอดไป

วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สามีเข้ากับครอบครัวไม่ได้ ทำอย่างไรดี?

เหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นกับหลายๆคน มันเป็นเพราะความถือตน ฟุ้งไป หลงตนของแต่ละฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝั่งสามี หรือครอบครัวของคุณเอง เพราะความไม่มีใจตั้งไว้กลางๆ
- ทางฝั่งครอบครัวคุณอาจจะมองว่า..เพราะมีอายุมากกว่า เพราะเป็นญาติของภรรยาจึงถือว่าฝั่งสามีคุณต้องปฏิบัติด้วยความเคารพ มองว่าทางตนเองคิดถูกแล้ว ทำถูกแล้ว โดยไม่รู้อภัย ไม่รู้จักให้ทาน ไม่มีความเมตตา-สงสาร ทะนงตน ถือตน ต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่หวัง-ต้องการตามเจตนารมณ์
- ทางฝั่งสามีคุณ..ชีวิตครอบครัว ความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อมของเขา สอนเขามาให้มีนิสัย ความคิดและการกระทำเป็นอย่างนั้น เขาทะนงตนว่าดีกว่า เก่งกว่า เลิศเลอกว่า ไม่ยอมคน ไม่รู้อ่อนน้อม-ถ่อมตน ไม่รู้ให้เกียรติคนอื่น ไม่พอใจจะกระทำใดๆเพราะคิดว่าตัวทำดีแล้ว ถูกต้องที่สุดแล้ว

ก็เพราะการถือตัวตนของทั้ง 2 ฝ่ายมีอย่างนี้ๆ เป็นเบื้องต้น มันจึงก่อให้เกิดการไม่ลงรูป ลงรอยกันอย่างนี้ ไม่มีใครถูกหรือผิด เหลือแค่ให้ทั้ง 2 ฝ่ายเปิดกว้างในมุมมองการปฏิบัติและคิดใหม่เป็นต้นดังนี้ว่า...
คุณลองชี้ให้ แฟนคุณ และ ครอบครัว ของคุณได้รู้จัก ได้เห็นชอบ และ ประพฤติดังนี้ ย้ำนะต้องบอกทั้ง 2 ฝ่าย
1. ทำสมาธิหลับตา เพื่อให้ใจผ่อนคลาย เบาสบาย
2. รู้จักมี "ทาน" คือหารให้ ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ให้เพราะอยากให้ผู้รับได้ใช้ประโยชน์ และ สุขจากการให้นั้น
การให้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ "ให้อภัย" ที่เราเรียกว่า "อภัยทาน" มีความเอื้อเฟื้อ-โอบอ้อมอารีย์ ต่อคนอื่น
3. รู้จักมีพรหมวิหาร ๔ คือ
3.1. เมตตา หมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข
3.2. กรุณา หมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
3.3. มุทิตา หมายถึง ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
3.4. อุเบกขา หมายถึง การรู้จักวางเฉย วางใจกลางๆ
ไม่ยึดมั่นในความพอใจ-ไม่พอใจ
4. รู้จักมีอดทน อ่อนน้อม-ถ่อมตน ให้เกียรติคนอื่น
ไม่ถือตนเองว่าดี ว่าเก่ง ว่าสูงส่ง-เลิศเลอกว่าคนอื่น
5. รู้จักมองย้อนดูข้อบกพร่องของตนเอง
เพื่อจะกระทำให้ดีงามและถูกต้อง
6. รู้จักหยุด และ รู้จักพอ(พอดี พอเพียง)
ที่สำคัญอยู่ที่พระราชดำรัสของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสอนเรื่องการวางตนดังนี้ครับ
- "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! จิตใจที่ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมคือ นินทาสรรเสริญนั้น เป็นจิตใจที่ประเสริฐยิ่ง..
ภิกษุทั้งหลาย ! ในหมู่มนุษย์นี้ผู้ใด ฝึกตนให้เป็นคนอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้อื่นได้ จัดว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด ม้าอัศนัย ม้าสินทบ พญาช้าง ตระกูลมหาราชที่ได้รับการฝึกดีแล้ว จัดเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ แต่บุคคลที่ฝึกตนดีแล้วยังประเสริฐยิ่งกว่าสัตว์เหล่านั้น"

- "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ผู้อดทนต่อคำกล่าวล่วงเกินของผู้สูงกว่า ก็เพราะความกลัว อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้เสมอกันเพราะเห็นว่าพอสู้กันได้ แต่ผู้ใดอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้ซึ่งด้อยกว่าตนได้ เราเรียกความอดทนนั้นว่าสูงสุด ผู้มีความอดทนมีเมตตา ย่อมเป็นผู้มีลาภ มียศอยู่เป็นสุข เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เปิดประตูแห่งความสุขความสงบได้โดยง่าย สามารถปิดมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทเสียได้ คุณธรรมทั้งมวล มีศีลและสมาธิเป็นต้น ย่อมเจริญงอกงามแก่ผู้มีความอดทนทั้งสิ้น
ภิกษุทั้งหลาย ! เมตตากรุณาเป็นพรอันประเสริฐในตัวมนุษย์"

 
ลองหาวิธีชี้หนทางแก้เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่าย มองเห็น และ คิดพร้อมปฏิบัติที่จะปฏิบัติ แต่ยากเหลือเกิน เพราะต่างฝ่ายต่างคิดในมุมของตัวเอง สำคัญอยู่ที่ตัวกลางคือเราต้องอดทน หา กลยุทธ์ เพื่อให้เกิดความปรองดองกันให้ได้ สำคัญต้องปล่อยเวลาให้ผ่านพ้นไปสักพัก รอให้อะไร อะไร เย็นลง หาทางที่จะปรับ สามีหรือคนของเราต้องคุยให้เข้าใจ และต้องบอกเค้า ต้องให้เค้ารัก พ่อแม่เรา เพราะพ่อและแม่ คือผู้ให้ พ่อแม่เราก็เหมือนกับพ่อแม่เค้า หว่านล้อมให้เกิดความรัก ระหว่างกัน ทำทุกอย่างให้ดีขึ้น ค่อยๆพูดเพื่อให้เข้าใจทีละน้อยๆ ความรักของพ่อแม่คือพรอันประเสริฐ ไม่มีพ่อแม่เราจะเกิดมาไม่ได้ พ่อแม่เลี้ยงเราจนโตเพราะรักเรา ทำจนกว่าจะซึมซับ และต้องอดทน น่าสุดท้ายความพยายามของเราจะประสบผลสำเร็จแน่นอน