.jpg)
มีงานวิจัยของทาง PricewaterhouseCoopers (PwC) ซึ่งได้ทำการสัมภาษณ์เก็บข้อมูลพนักงานที่ลาออกจากองค์กรโดยสมัครใจว่ามีเหตุผลอะไรบ้าง และได้สอบถามจากพนักงานจำนวนถึง 19,000 คน ซึ่งสามารถสรุปสาเหตุที่พนักงานลาออกจากองค์กรได้ดังตารางข้างล่างนี้
จากผลการสำรวจจะเห็นว่าสาเหตุส่วนใหญที่พนักงานอยากลาออกนั้น เป็นสาเหตุที่มาจากเรื่องของค่าจ้างเงินเดือนเพียง 12% เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นสาเหตุจากเรื่องอื่นๆ ทั้งสิ้น ลองมาดูทีละอันดับกันว่ามีรายละเอียดอย่างไร
- ขาดโอกาสในการเติบโต นี่เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่พนักงานส่วนใหญ่ตอบมา โดยทั่วไป พนักงานเข้าทำงานในองค์กรไปสักระยะหนึ่งแล้ว สิ่งที่เขาต้องการก็คือ การเติบโตในหน้าที่การงาน ไม่ว่าจะเป็นระดับ หรือตำแหน่งงานที่สูงขึ้น ซึ่งองค์กรจะต้องมีการจัดเรื่องของการเติบโตในสายอาชีพให้กับพนักงานได้ด้วย องค์กรที่มีการจัดเรื่องของ Career Path อย่างจริงจัง จะทำให้พนักงานรู้สึกอยากอยู่ทำงานต่อ โดยเฉพาะคนเก่งในองค์กร เมื่อทราบว่าตนเองสามารถจะโตไปไหนได้ ก็จะมีแรงจูงใจในการทำงาน ไม่อยากที่จะไปทีอื่น ในทางตรงกันข้าม ถ้าพนักงานทำงานไปสักพัก แล้วไม่รู้เลยว่าตนเองจะโตไปทางไหนได้บ้างในองค์กร พนักงานกลุ่มนี้ก็จะไปโตที่อื่นนอกองค์กรเรา เราก็จะเสียคนเก่งไปในที่สุด

- หัวหน้าไม่ดูแลเอาใจใส่ นี่เป็นสาเหตุอันดับที่ 2 ที่พนักงานรู้สึกอยากลาออกจากองค์กร สาเหตุนี้จริงๆ เป็นสาเหตุคลาสสิคมากๆ เพราะงานวิจัยส่วนใหญ่ที่สอบถามเรื่องของสาเหตุการลาออกนั้น มักจะออกมาในเรื่องของหัวหน้าขาดการดูแลเอาใจใส่ลูกน้องเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ เพื่อทราบดังนี้แล้ว เราก็คงต้องหาวิธีการป้องกันปัญหานี้ โดยการฝึกอบรมและพัฒนาหัวหน้างานทุกระดับในองค์กรให้รู้จักที่จะบริหารคน รู้จักที่จะจูงใจคนในทางที่ถูกต้อง แต่พูดไปก็แปลกเหมือนกัน บางองค์กรรู้ดีว่า ที่พนักงานลาออกนั้นมีสาเหตุมาจากหัวหน้างาน และผู้จัดการ แต่กลับไม่มีมาตรการอะไรในการแก้ไขปัญหา ปล่อยให้หัวหน้าบริหารงานบริหารคนแบบเดิมๆ พนักงานก็หาแล้วหาอีก ไม่เคยนิ่งสักที

- ค่าตอบแทน สาเหตุอันดับที่ 3 เป็นเรื่องของค่าตอบแทน จากผลการสำรวจนั้น ไม่ใช่หมายถึงค่าตอบแทนที่ต่ำเกินไปนะ สาเหตุของค่าตอบแทนที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่าไม่อยากทำงานก็มาจาก ความไม่เป็นธรรมในการบริหารค่าตอบแทนมากกว่า บางองค์กรจ่ายค่าตอบแทนสูงมากเมื่อเทียบกับตลาด แต่พนักงานก็ยังอยากลาออก ก็เนื่องจากเขารู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในการจ่ายค่าตอบแทนมากกว่า เช่น การกำหนดอัตราเงินเดือนกำหนดตามใจเถ้าแก่ ชอบก็ให้เยอะ ไม่ชอบก็ให้น้อยเป็นต้น หรือการขึ้นเงินเดือนแทนที่จะเป็นไปตามผลงาน ก็ไปขึ้นตามอายุงานมากกว่า แบบนี้พนักงานเก่งๆ ก็ไม่อยากอยู่ทำงานด้วยอย่างแน่นอนเละทีเดียว
- งานที่ทำน่าเบื่อไม่มีอะไรท้าทาย สาเหตุอันดับที่ 4 เป็นเรื่องของตัวงานเอง กล่าวคือ ทำงานไปเรื่อยๆ พอนานวันเข้าก็เริ่มรู้ว่างานนั้นจะต้องทำอะไร ปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขอย่างไร เรียกได้ว่ารู้ตื้นลึกหนาบางของงานหมดทุกด้านแล้ว พนักงานก็จะเริ่มรู้สึกเบื่อ เหนื่อยหน่ายกับสิ่งที่ต้องทำซ้ำๆ ในแต่ละวัน ยิ่งไปกว่านั้นถ้าองค์กรไม่มีระบบการหมุนเวียนงานที่ดี ก็จะยิ่งทำให้พนักงานเบื่อเข้าไปอีก สุดท้ายก็ต้องไปหาความท้าทายที่อื่น ดังนั้นการแก้ไขปัญหานี้ก็คือการสร้างระบบการหมุนเวียนเปลี่ยนงานภายในองค์กรขึ้น เพื่อทำให้พนักงานมีทักษะที่สูงขึ้น กว้างขึ้น และยังทำให้พนักงานรู้สึกถึงความท้าทายงานมากขึ้นด้วย
- สาเหตุที่เหลือ จะเป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับหัวหน้างานเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่า ในเรื่องของหัวหน้าขาดภาวะผู้นำ ขาดความสัมพันธ์ที่ดีกับหัวหน้า มีความขัดแย้งกับหัวหน้าโดยตรง หัวหน้ามีความลำเอียง และไม่เคยที่จะใส่ใจในผลงานและความทุ่มเทของพนักงานเลย สาเหตุที่เหลือเหล่านี้ สามารถจัดเข้ากลุ่มในข้อ 2 ได้ ก็คือ หัวหน้างานไม่เอาใจใส่พนักงานนั่นเอง
นี่เป็นอีกข้อพิสูจน์ว่า ในอนาคตการให้รางวัลที่ไม่ใช่ตัวเงินจะทวีความสำคัญมากขึ้นสำหรับการดึงดูด และรักษาคนเก่งในองค์กร
แหล่งที่มา : http://prakal.wordpress.com
ภาพประกอบ : จากอินเตอร์เน็ต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น