หน้าเว็บ

วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เคล็ดลับการเป็นหัวหน้าที่ดี


เหล่าบรรดาหัวหน้างาน ผู้จัดการ หรือจะเรียกชื่อตำแหน่งอะไรก็แล้วแต่ สิ่งหนึ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้จะขาดไม่ได้เลยก็คือ เขาต้องทำงานผ่านคนอื่น คนอื่นในที่นี้ก็คือ “ลูกน้องของตนเอง” การที่หัวหน้าคนหนึ่งจะทำงานผ่านคนที่เป็นลูกน้องได้ดีนั้น ไม่ใช่แค่เพียงการวางแผนงาน และเข้ามาควบคุมดูแลให้งานสำเร็จตามเป้าหมายเท่านั้น หัวหน้างานยังต้องทำหน้าที่ในการบริหารคน หรือบริหารความรู้สึกของคนในทีมงานอีกด้วย

มีหลายคนถามมาว่า มีสูตรสำเร็จหรือไม่ในการที่จะบริหารคนในทีมงานให้เกิดความรู้สึกที่ดีในการทำงาน และเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมทั้งมีแรงจูงใจในการทำงาน สูตรที่ว่านั้นมีให้เห็นกันอยู่ทั่วไปมากมาย เพียงแต่มันติดตรงที่ รู้แล้วว่าเคล็ดลับคืออะไร แต่ไม่ค่อยมีหัวหน้างานคนไหนจะนำไปใส่ใจทำตามน่ะสิครับ ผลก็คือ หัวหน้างานไม่สามารถบริหารคนในทีมงานได้เลย คนเอาคนไม่อยู่  สิ่งที่ตามมาก็คือ งานก็เริ่มหลุดแผน ผลสุดท้ายก็คือผลงานหัวหน้างานก็เริ่มแย่ลงไปด้วย ผลงานองค์กรก็ไปไม่ถึงเป้าที่ต้องการอีก
จากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับเหล่าหัวหน้างาน และผู้จัดการมือดี เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารคนของเขา ก็พบว่า มันมีเคล็ดลับอยู่ไม่กี่ตัวเท่านั้น ก็เลยเอามาเล่าให้อ่านกัน เผื่อจะได้นำเอาไปใช้ในการทำงานได้
  • เอาใจเขามาใส่ใจเรา สิ่งที่ผู้จัดการที่ดีบอกเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า ถ้าหัวหน้างานอยากจะบริหารลูกน้องได้ดีนั้น ต้อง “เอาใจลูกน้องมาใส่ใจเรา” เราต้องเข้าใจเขาว่า เขากำลังคิดอะไร รู้สึกอย่างไร ลองดูว่าถ้าเป็นเราโดนเข้าแบบนั้นเราจะรู้สึกอย่างไร ลูกน้องเราเองก็เช่นเดียวกัน เช่น หัวหน้างานบางคนมักจะโวยวาย ตีโพยตีพาย และด่ากราดลูกน้องที่ทำงานไม่ได้ดั่งใจต่อหน้าลูกน้องคนอื่นๆ  เพื่อความสะใจของเขา ลองถามตัวเองดูว่า ถ้าเป็นเรา เราชอบมั้ยที่โดนหัวหน้าของเราด่ากราดแบบนั้นต่อหน้าคนอื่น ขอให้ตอบอย่างจริงใจนะ (มั่นใจเลยว่า ไม่มีใครชอบหรอกแน่นอน แต่ก็แปลกที่เรากลับชอบทำกับลูกน้องของเรา เหมือนกับว่าเราไม่รู้สึกอะไรเลยถ้าโดนแบบนั้นเข้าเหมือนกัน)
  • ให้เกียรติ และให้การยอมรับ หัวหน้างานที่ดีต่างก็ยอมรับว่า การให้เกียรติลูกน้องของเรา และการให้กายอมรับลูกน้องของเรานั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่จะทำให้เขาเกิดแรงจูงใจในการทำงานกับเรา การให้เกียรติก็คือ เรื่องอะไรที่เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา เราก็ไม่ควรเอามาพูดในที่สาธารณะ การพูดจาที่สุภาพ การปฏิบัติต่อลูกน้องเหมือนเขาเป็นครอบครัวเดียวกับเรา ให้การยอมรับเขาในฐานะทีมงาน สิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มจากหัวหน้าก่อนทั้งสิ้น ทักทาย พูดคุย ถามทุกข์สุข ฯลฯ ลูกน้องเองก็จะรู้สึกว่า หัวหน้าให้การยอมรับเขา แรงจูงใจในการทำงานก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
  • ให้ความจริงใจ มีใครบ้างที่ไม่ชอบคนจริงใจกับเรา ลูกน้องเองก็เช่นกันครับ เขาเองก็ชอบหัวหน้างานที่จริงใจ ไม่มีอะไรลับหลังเขา ไม่ว่าจะเป็นการนินทาลูกน้องตัวเองให้หัวหน้างานคนอื่นฟัง การปฏิบัติต่อลูกน้องแบบต่อหน้าอย่างหนึ่ง ลับหลังอย่างหนึ่ง หรือพอลูกน้องทำงานได้ดี ก็ไม่มีคำชม หรือบางทีก็ชมแบบขอไปที ถามท่านที่เป็นหัวหน้าเองก็ได้ครับ ชอบมั้ยครับถ้าเจอหัวหน้างานแบบนี้บ้าง
  • ให้ความเป็นธรรม ปกติถ้าหัวหน้างานมีลูกน้องมากว่า 1 คน สิ่งที่หัวหน้างานจะต้องระวังก็คือ เรื่องของการปฏิบัติตนไม่เป็นธรรม เราเองอาจจะรู้สึกว่าเป็นธรรม แต่ลูกน้องกลับมองว่าไม่เป็นธรรม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบกับความรู้สึกของลูกน้องได้ง่ายมาก ในการทำตัวของหัวหน้านั้น จะต้องคิดให้ดี ถ้าเราทำแบบนี้กับคนนี้แล้ว ถ้าเกิดกรณีแบบเดียวกันกับคนอื่น เราจะทำแบบนี้หรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีและเป็นธรรม แต่ถ้าคำตอบคือ “ถ้าเป็นลูกน้องคนนี้ฉันจะไม่มีทางทำแบบนี้เด็ดขาด” นั่นแสดงว่าท่านเองก็มีการเลือกปฏิบัติต่อลูกน้องตนเองแล้วล่ะ
  • รับฟังอย่างเข้าใจ ทักษะเรื่องของการฟังนี้จะว่าง่ายก็ง่าย หรือจะว่ายาก มันก็ยากนะครับ การฟังที่ดีก็คือฟังแล้วต้องไม่สรุปเอาเอง หรือเอาประสบการณ์ของเราเข้าไปตัดสินคนอื่น ต้องฟังอย่างเป็นกลาง และฟังอย่างเข้าใจลูกน้องของตน ว่าทำไมเขาถึงพูดแบบนั้น หัวหน้าส่วนใหญ่ชอบพูดมากกว่าฟังอยู่แล้ว เพราะมองว่าตนเองเป็นหัวหน้าต้องเก่งกว่า ต้องพูดมากกว่า มิฉะนั้นแล้วจะสู้ลูกน้องไม่ได้ แต่ผมว่าฟังให้เยอะไว้จะดีกว่า เพราะเราจะกลายเป็นหัวหน้าที่เข้าใจลูกน้องได้ดีกว่าหัวหน้าที่พูดอย่างเดียว ห้าข้อดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่หัวหน้างานส่วนใหญ่บอกไว้เลยว่า นี่คือเคล็ดลับของการเป็นหัวหน้างานที่ดี 
จะสังเกตเห็นว่าไม่ต้องไปเรียนเทคนิคอะไรมากมายเลย แค่เพียงเราตั้งใจที่จะเป็นหัวหน้างานที่ดี และทำตามเคล็ดลับที่กล่าวมา โดยส่วนตัวเรา ถามตัวเองว่าถ้าหัวหน้าเราเป็นแบบ 5 ข้อนี้เราจะรู้สึกอย่างไร คำตอบที่ออกมาโดยไม่ลังเลเลยก็คือ เราจะรู้สึกดีมากๆ ดังนั้นถ้าเราปฏิบัติตนแบบนี้กับลูกน้องของเรา ลูกน้องเราก็ย่อมจะรู้สึกดี และมีกำลังใจในการทำงาน รวมทั้งเกิดแรงจูงใจในการสร้างผลงานให้ดีขึ้นได้อีกมากมายเลยทีเดียว

หัวหน้าบางคนรู้ทฤษฎีในการบริหารคนมากมาย แต่ไม่สามารถอยู่ในใจของลูกน้องได้เลย นั่นก็คือ ไม่เคยนำสิ่งที่รู้มานั้นไปปฏิบัติจริง

ขอขอบคุณ :http://prakal.wordpress.com
ภาพประกอบ : จากอินเตอร์เน็ต


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น