หน้าเว็บ

วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การเป็นพนักงานที่ดี ต้องทำอย่างไร (ข้อคิดของลูกน้อง)

องค์กรส่วนใหญ่มักจะอบรมแต่เฉพาะพนักงานระดับบังคับบัญชาในเรื่องเกี่ยวกับการเป็นหัวหน้างานที่ดี หรือการเป็นผู้จัดการที่ดี แต่ไม่ค่อยมีองค์กรใดที่พยายามจะให้ความรู้ และอบรมพนักงานให้เป็นพนักงานที่ดีสักเท่าไหร่ กล่าวคือ คนที่เป็นพนักงานเมื่อเข้ามาทำงานแล้ว ก็ผ่านแค่การอบรมปฐมนิเทศน์ เท่านั้น แล้วก็มักจะเกิดคำบ่นจากบรรดาหัวหน้าทั้งหลายเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกน้องตนเองว่า ไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่ (ทางฝ่ายลูกน้องก็บ่นถึงลูกพี่เช่นกัน)
ดังนั้นการที่เรารับพนักงานเข้ามาทำงานในองค์กรของเรา สิ่งที่องค์กรควรจะทำก็คือ การให้ความรู้และพัฒนาพนักงานให้เขาทราบถึงวิธีการเป็นพนักงานที่ดี และทำอย่างไรที่จะสามารถทำให้ตนเองเป็นพนักงานที่ดีในสายตาของหัวหน้าและองค์กร ไม่ใช่ปล่อยเขาไปตามยถากรรม
โดยทั่วไปพนักงานที่ดี และเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าบรรดาหัวหน้าก็มักจะมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ได้สอบถามจากเหล่าบรรดาหัวหน้างานทั้งหลายจนสรุปได้คำตอบดังนี้
  • มีความรับผิดชอบ ข้อนี้ความหมายก็คือ เวลาได้รับมอบหมายงานไปแล้ว ไม่ทิ้งงาน ไม่ปล่อยปละละเลยงาน ทำงานให้สำเร็จตามแผนงานที่กำหนดไว้ และรู้ว่างานนี้คือความรับผิดชอบของตนเองที่จะต้องทำให้สำเร็จ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปจ้ำจี้จ้ำไชอยู่ตลอดเวลา
  • มีความทุ่มเทให้กับงาน ข้อนี้จะคล้ายๆ กับเรื่องของความรับผิดชอบ เพียงแต่เน้นไปที่เรื่องของความตั้งใจในการทำงาน ความมุ่งมั่นว่าจะต้องทำงานนั้นให้สำเร็จให้ได้ ไม่ใช่วันๆ เอาแต่ทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับงานในเวลางาน ส่วนงานก็ไม่ยอมทำ จะมาทำเอาใกล้ๆ กำหนดส่ง สิ่งที่หัวหน้าไม่ค่อยชอบก็คือ การที่พนักงานใช้เวลาในการทำงานนั่งเล่น Facebook นั่ง chat หรือ เข้าสู่ Social Network ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการขาดวุฒิภาวะในการทำงาน ขาดความรับผิดชอบ และความทุ่มเทให้กับการทำงาน
  • เชื่อฟังหัวหน้ข้อนี้หัวหน้าเกือบทุกคนตอบเหมือนกันเลย ก็คือ ต้องการพนักงานที่เชื่อฟัง คำว่าเชื่อฟังนี้ไม่ใช่การไม่โต้แย้ง หรือไม่เถียง แต่เป็นความเข้าใจซึ่งกันและกันมากกว่า ว่าที่หัวหน้าพูดแบบนี้ หรือทำแบบนี้นั้นมีวัตถุประสงค์อย่างไร ทำไมหัวหน้าต้องสั่งแบบนั้น ทำไมต้องพูดแบบนี้ หัวหน้าเองก็คาดหวังให้พนักงานเข้าใจเขาด้วยเช่นกัน
  • แก้ไขปัญหาในการทำงานได้ด้วยตนเอง สิ่งที่หัวหน้ามักจะคาดหวังจากลูกน้องก็คือ ลูกน้องจะต้องสามารถแก้ไขปัญหาในการทำงานของตนเองได้บ้าง ไม่ใช่ต้องให้หัวหน้าเป็นคนแก้ไขซะทุกเรื่อง แบบนี้หัวหน้าก็บอกว่า ไม่ต้องจ้างมาก็ได้ เพราะจ้างมาแล้วไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แล้วต้องย้อนกลับมาให้หัวหน้าแก้ไขให้นั้น ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะจ้างพนักงานคนนี้เข้ามาเลย
  • ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ ข้อนี้เป็นอีกข้อที่หัวหน้าส่วนใหญ่ต้องการ ก็คือ พนักงานต้องไม่ฝ่าฝืน หรือแหกกฎของบริษัท เวลาทำงานก็ให้ปฏิบัติงานตามกฎระเบียบข้อบังคับของบริษัท เนื่องจากหัวหน้าไม่ต้องการที่จะมานั่งเสียเวลาในเรื่องพวกนี้ และหัวหน้าก็คาดหวังว่า พนักงานทุกคนน่าจะเข้าใจ และปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เขียนไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้เกิดความเป็นระเบียบในสังคมการทำงาน
นี่คือ 5 ความต้องการหลักของคนที่เป็นหัวหน้าที่อยากให้ลูกน้องเป็นอย่างไรบ้าง ตามที่ได้เก็บรวบรวมข้อมูลมา ดังนั้นถ้าเราอยากเป็นลูกน้องที่ดี และอยากเป็นพนักงานที่ดีในสายตาของหัวหน้า และองค์กร อย่างน้อยๆ 5 ข้อข้างต้นก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่พนักงานทุกคนจะต้องระลึกไว้เสมอ
นอกจาก 5 ข้อนี้ที่จะต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และได้มาตรฐาน นอกนั้นก็คงเป็นเรื่องของผลงานที่ออกมาตามตัวชี้วัดผลงานของแต่ละตำแหน่งงาน และในบางองค์กรอาจจะมีการกำหนด Competency ของพนักงานไว้ว่าจะต้องมีอะไรเพิ่มเติมบ้าง ก็ให้ใช้จุดนั้นเพิ่มเติม
เท่าที่มีการวิเคราะห์อย่างจริงจังจากคำตอบที่ได้มา 5 ข้อนั้น คิดว่า ถ้าหัวหน้ามีลูกน้องที่สามารถเป็นแบบ 5 ข้อข้างต้นได้ หัวหน้าก็คงจะสบายใจขึ้น และคงทำงานร่วมกับลูกน้องแต่ละคนได้ดีทีเดียว โดยไม่ต้องมานั่งปวดหัวกับพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของลูกน้องแต่ละคน
แต่ว่า เรื่องพวกนี้มันอยู่ที่มุมมองของแต่ละฝ่ายด้วย ฝ่ายหัวหน้าเองก็นั่งอยู่อีกมุมหนึ่ง ซึ่งบางครั้งก็เริ่มมองไม่เห็นมุมมองของพนักงานทั้งๆ ที่ตนเองก็เคยเป็นพนักงานมาก่อน ตัวลูกน้องเองก็ไม่ค่อยมองในมุมของคนที่เป็นหัวหน้าเลยก็มี ว่าทำไมหัวหน้าถึงต้องทำอะไรแบบนั้น
ถ้าทั้งสองฝ่ายพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และหันหน้าเข้าหากัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เข้าใจความคาดหวังของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างดี คิดว่าปัญหาระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องก็ไม่น่าเกิดขึ้น เมื่อไม่เกิดปัญหาระหว่างกันขึ้น ผลงานของทีมก็จะออกมาดีกว่า ทีมงานที่มีปัญหาระหว่างกันข้างใน คุณว่าจริงมั้ย....
ขอขอบคุณบทความดีๆจาก : http://prakal.wordpress.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น